ไขคำตอบ ประกันสังคมต้องหักเดือนละเท่าไร ทำอะไรได้บ้าง ?

  • 23 พ.ค. 2566
  • 274469
หางาน,สมัครงาน,งาน,ไขคำตอบ ประกันสังคมต้องหักเดือนละเท่าไร ทำอะไรได้บ้าง ?

สวัสดีครับ วันนี้ JOBBKK.COM จะมาไขข้อข้องใจในเรื่องฮอตฮิตที่มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกัน ว่าทำไมต้องจ่ายประกันสังคม จ่ายก็ไม่ได้ใช้ แล้วทำไมแต่ละคนจ่ายไม่เท่ากัน แบบนี้เอาเปรียบกันรึเปล่า !!!

การประกันสังคม คือการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ โดยจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และรับผิดชอบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย  คลอดบุตร  ทุพพลภาพ  เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง

มนุษย์เงินเดือนที่ต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคม บริษัทจะหักจากเงินเดือน 5% เท่าๆ กันทุกเดือนและส่งให้กองทุนประกันสังคม โดยการหักเงินนั้นจะคิดจากฐานเงินเดือนที่ได้รับ เช่น หากได้รับเงินเดือน 10,000 บาท ก็จะถูกหัก 500 บาท สำหรับคนที่ได้เงินเดือนเท่ากับหรือมากกว่า 15,000 บาท จะหักสูงสุดไม่เกิน 750 บาท และเงิน 5% นี้ ถูกหักไปทำอะไรบ้าง ?

 

สมมติจากการส่งสูงสุด 750 บาท โดยเปอร์เซนต์เหล่านี้จะคิดจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท

0.5% = 75 บาท ประกันการว่างงาน

3% = 450 บาท ประกันชราภาพ

1.5% = 225 บาท ประกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิต

 

ซึ่งเงินประกันชราภาพ บริษัทจะจ่ายสมทบให้เราเท่ากับจำนวนที่เราจ่ายด้วย อย่างในตัวอย่างที่เราจ่าย 450 บาท บริษัทก็จะสมบทให้อีก 450 บาท ประกันสังคมจะหักไว้เป็นเงินออมและเราก็จะได้รับเมื่ออายุครบ 55 ปี แต่จำนวนเงินที่ได้รับ จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายของเรา โดยมีเงื่อนไข และตัวอย่างการคำนวน ดังนี้

 

1.กรณีจ่ายประกันสังคมไม่ครบ 1 ปี เช่นจ่ายเพียง 10 เดือน เมื่ออายุครบ 55 ปี จะได้เงินออม จำนวน 450×10 เท่ากับ 4,500 บาทเท่านั้น แต่จะไม่ได้เงินที่บริษัทสมทบให้ทุกเดือน ซึ่งเงินที่ได้รับนี้เรียกว่า “บำเหน็จชราภาพ”

2.กรณีจ่ายประกันสังคมครบ 1 ปีแต่ไม่ถึง 15 ปี เมื่ออายุครบ 55 ปี จะได้เงินที่เรียกว่า “บำเหน็จชราภาพ” เช่นกัน แต่จะได้ในส่วนที่บริษัทสมทบให้ด้วย เช่น จ่ายเงินประกันสังคมมา 10 ปี ก็จะได้เงินออมเดือนละ 450 บาทเท่ากับ 450×120 เดือนเท่ากับ 54,000 บาท รวมกับที่บริษัทสมทบให้ 10 ปีเท่ากับ 450×120 เดือน ก็จะได้อีก 54,000 บาท เงินที่ได้รับทั้งหมดก็คือ 108,000 บาท

3.กรณีจ่ายประกันสังคมครบ 15 ปีพอดีเป๊ะ เราจะไม่ได้รับเงินก้อน ‘บำเหน็จชราภาพ’ เหมือน 2 กรณีแรก แต่จะได้รับเงินเป็น ‘บำนาญชราภาพ‘ ซึ่งจะได้รับทุกเดือน โดยคำนวณจากจำนวนเงินเดือนที่เราได้รับ เช่น เงินเดือนเฉลี่ย 5 ปีหรือ 60 เดือนย้อนหลังของเราอยู่ที่ 20,000 บาท เราจะได้รับเงินบำนาญเป็น 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนย้อนหลัง เท่ากับ 4,000 บาท จนเราเสียชีวิต พูดง่ายๆ ว่ามีเงินเดือนตอนเกษียณนั่นเอง

4.กรณีจ่ายประกันสังคมเกิน 15 ปีขึ้นไป เราจะได้รับเงินบำนาญชราภาพ เช่นเดียวกับกรณีจ่ายครบ 15 ปีเป๊ะ คือ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนย้อนหลัง แต่จะได้เงินพิเศษเพิ่มอีก 1.5% ของเงินเดือนเฉลี่ยที่เกิน 15 ปีเป็นต้นไป เช่น เงินเดือนเฉลี่ย 5 ปี หรือ 60 เดือนย้อนหลังของเราอยู่ที่ 20,000 บาท เราจะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 4,000 บาทเหมือนกัน แต่สมมติว่าเราส่งประกันสังคมมาทั้งหมด 20 ปีซึ่งเกินมา 5 ปี ก็จะได้เงินพิเศษอีก 1.5% ทุกๆ 1 ปีของเงินเดือนเฉลี่ยที่เกินมา

วิธีคิด

เงินเดือนเฉลี่ย 20,000 * 1.5% =  300 บาท

ส่งเกินมา 5 ปี  เท่ากับ 300 บาท* 5 =  1,500 บาท

จะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 4,000 + 1,500 = 5,500 บาท ไปจนเสียชีวิต

 

ส่วนกรณีที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพไม่ถึง 5 ปีแล้วเสียชีวิต จะได้รับเงินชดเชยเพิ่มเติมอีก 10 เดือนของเงินบำนาญชราภาพ สมมติเงินบำนาญชราภาพเดือนสุดท้ายคือ 5,500 บาท คูณด้วย 10 เดือน ก็จะได้เท่ากับ 55,000 บาทเมื่อเสียชีวิต

 

ดังนั้น เงินประกันสังคมที่จ่ายทุกๆ เดือน จึงไม่ได้ใช้แค่รักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเงินที่จะช่วยดูแลเราในยามที่ว่างงานหรือตอนเกษียณอายุงานอีกด้วย เพราะฉะนั้นอย่าลืมใช้สิทธิและรักษาสิทธิประกันสังคมของเราด้วยนะครับ

 

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงดำเนินการออกกฎกระทรวงสำหรับการปรับเปลี่ยนจำนวนเงินสมทบเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยมีอัตราเงินสมทบอยู่ที่ 5 % เช่นเดิม ซึ่งการปรับเปลี่ยนมีดังนี้

 

เงินเดือน (บาท)

เงินสมบท (บาท/เดือน)

1,650 – 15,000

จ่ายเท่าเดิม ไม่เกิน 750

16,000

800

17,000

850

18,000

900

19,000

950

20,000 ขึ้นไป

จ่ายสูงสุดไม่เกิน 1,000

 

 

 

สามารถตรวจสอบการส่งเงินสมทบประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th

 

ขอบคุณข้อมูล : สำนักงานประกันสังคม

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top